พิธีการ

ประเพณี
คำว่า “ประเพณี” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Tradition”
คำว่า ประเพณีนั้น เป็นกิจกรรม และพิธีกรรมต่างๆ ที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม เช่น การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ฯลฯ อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของสังคมเชื้อชาติต่างๆ กลายเป็นประเพณีประจำชาติและถ่ายทอดกันมาโดยลำดับจากรุ่นสู่รุ่น หากประเพณีนั้นดีอยู่แล้วก็รักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่ดีก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ

ความหมายของประเพณี
พระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความหมายของคำว่าประเพณีไว้ว่า ประเพณี คือ ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกัน และสืบต่อกันมาช้านาน

คำว่า “ประเพณี” ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดความหมายประเพณีไว้ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน ซึ่งสามารถแยกคำต่างๆ ออกได้เป็น ขนบ มีความหมายว่า ระเบียบแบบอย่าง ธรรมเนียมมีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีความหมายว่า ความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ ยึดถือเป็นแบบแผน และได้ทำการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นต้นแบบที่จะให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ประพฤติปฏิบัติตามกันต่อไป โดยสรุปแล้ว ประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามประเพณี มักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแปลกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาและพราหมณ์

ประเพณีไทย  Thai Tradition
พิธีกรรมต่างๆทางพราหมณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีไทยที่มีผู้กระทำและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านานตั้งแต่โบราณกาล
พิธีพราหมณ์เหล่านี้เป็นพิธีพราหมณ์ส่วนหนึ่งที่ผู้เป็นพราหมณ์จะประกอบพิธีให้กับราษฎร เรียกว่า ราษฎรพิธี หรือหน่วยงานของรัฐ เรียกว่า รัฐพิธี เป็นต้น ฯลฯ

พิธี
คำว่า “พิธี”ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
พิธี หมายถึง งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เป็นแบบอย่าง เป็นธรรมเนียม เช่น ทำให้ถูกพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล ของสถานที่นั้นๆ และก่อนเริ่มงานนั้นๆ  เป็นต้น ฯลฯ

พิธีการ
คำว่า พิธีการ คือ ขั้นตอนของพิธีที่กำหนดไว้ตามลำดับตั้งแต่เริ่มต้นจนจบพิธี
เพื่อให้การจัดกิจกรรมในพิธีนั้นๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องเรียบร้อยและสวยงาม อันจะนำมาซึ่งความศรัทธา และความเชื่อในการจัดกิจกรรมร่วมกัน ทั้งในส่วนของผู้ร่วมพิธีและผู้ที่พบเห็น

การเตรียมการของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานงานพิธีการ
1. เตรียมกำหนดการ
2. เตรียมสถานที่
3. จัดเตรียมอุปกรณ์
4. จัดเตรียมบุคลากร

เตรียมกำหนดการ
กำหนดการ คือ เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อบอกลักษณะของงานว่าเป็นงานอะไร ใครเป็นประธาน สถานที่ วัน เวลา ในการจัดงาน ลำดับขั้นตอนของงาน การแต่งกายเป็นรูปแบบใด เพื่อให้ผู้ที่ร่วมพิธีมีความเข้าใจตรงกันและทราบขั้นตอนของพิธี

หลักการเขียนกำหนดการ แบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนต้น เป็นส่วนที่บอกชื่องาน สถานที่ วัน เวลา ที่จะจัดงาน

ตัวอย่างส่วนต้น
กำหนดการ
พิธี……………………………………(ทำอะไร)
ณ…………………………………….(สถานที่ที่ไหน)
วันที่……..เดือน……………….ปี………….เวลา………..(เมื่อไร)
ส่วนกลาง เขียนลำดับขั้นตอนของกิจกรรมในงานพิธีนั้นๆตั้งแต่เริ่มจนถึงลำดับขั้นตอนสุดท้ายของงานพิธี

ตัวอย่างส่วนกลาง
เวลา 09.40 น. – เจ้าภาพและผู้มีเกียรติพร้อมกัน ณ.บริเวณหน้าปรัมพิธี
เวลา 10.00 น. – ประธานในพิธีเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธี (โต๊ะพิธีพราหมณ์)
– ………..
– ………..
– ………..
– เสร็จพิธี
เวลา 12.00 น. – รับประทานอาหารร่วมกัน

ตัวอย่างส่วนท้าย
หมายเหตุ การแต่งกายชุดขาวหรือชุดสุภาพ
 ส่วนท้าย ด้านซ้ายของกำหนดการจะเขียนบอกในเรื่องการแต่งกาย

การจัดเตรียมสถานที่
ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ในการจัดงาน โดยพิจารณาดูว่างานที่จะจัดเป็นงานพิธีใด งานมงคลชนิดใด สถานที่ที่จะจัดนั้นมีความเหมาะสมกับการจัดพิธีนั้นๆ หรือไม่เพียงใด
…โดยพิจารณาจาก
1. ความเหมาะสมของสถานที่ในการจัดพิธี
2. มีความกว้างขวางเพียงพอกับการรองรับผู้มาร่วมงานหรือไม่
3. สะอาด สะดวก และปลอดภัย
4. ไม่มีเสียงรบกวน

การจัดเตรียมอุปกรณ์ในพิธีพราหมณ์
เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานพิธีต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านรัฐพิธี และพิธีการ หรืองานที่เกี่ยวกับศาสนพิธี ก็ควรที่จะต้องมีความรู้
ความเข้าใจเกี่ยวกับพิธีการต่างๆ ชื่อแต่ละงานจะใช้อุปกรณ์ในการประกอบพิธีที่แตกต่างกัน เช่น การเตรียมการในศาสนพิธี

1. อุปกรณ์หลักประกอบด้วย
– โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป แท่นกราบ แจกันดอกไม้ หรือพานพุ่ม กระถางธูป เชิงเทียน ที่กรวดน้ำ และจตุปัจจัยไทยธรรม (กรณีที่มีการนิมนต์พระสงฆ์ด้วย)
– เครื่องขยายเสียงพร้อมอุปกรณ์
– เต็นท์ผู้ร่วมพิธี โซฟาที่นั่งประธาน ผู้บริหาร เก้าอี้สำหรับพนักงาน และผู้ร่วมพิธีทั้งหลาย
2. อุปกรณ์เฉพาะพิธี ในพิธีนั้นๆขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่าทางเจ้าภาพจะจัดเองหรือให้ทางพราหมณ์เป็นผู้จัดเตรียมให้ครบทุกสิ่ง

การเตรียมบุคลากร
เป็นการแสดงถึงความพร้อมของผู้จัดงานพิธีการต่างๆ เพื่อความสะดวกในการประสานงาน และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละส่วนของผู้ปฏิบัติงานได้ชัดเจน สามารถตรวจสอบและติดตามว่าได้ดำเนินการหรือยัง เช่น ได้ทำการเชิญพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีหรือยัง การนิมนต์พระหรือยัง จำนวนเท่าไร เชิญประธานหรือยัง ใครเป็นพิธีกร เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *